อธิบดีปศุสัตว์ Kick Off “โครงการรณรงค์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งเป้าคุมโรคในสัตว์ 100%
วันที่ 2 ธันวาคม 2562 เวลา 11.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีเปิดการ Kick Off “โครงการรณรงค์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย รอบที่ 1 ปีงบประมาณ 2563 จังหวัดลพบุรี” พร้อมด้วยนายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี น.สพ.ประภาส ภิญโญชีพ ปศุสัตว์เขต 1 น.สพ.จรูญ ชูเกียรติวัฒนาปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมปศุสัตว์ ประธานสหกรณ์/ศูนย์รับน้ำนมดิบทุกแห่งในจังหวัดลพบุรี และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้
กรมปศุสัตว์มีนโยบายให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกำหนดให้แต่ละพื้นที่ ดำเนินการเปิดเริ่มรณรงค์ (Kick Off) ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2562 พร้อมกันทั่วประเทศ พร้อมทั้งให้ความรู้เกษตรกรเรื่องโรคและความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพื่อประชาสัมพันธ์การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทราบ เพื่อขอรับบริการฉีดวัคซีนที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน ร่วมกับปศุสัตว์เขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สหกรณ์/ศูนย์รับน้ำนม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
การจัดพิธีเปิด Kick Off “โครงการรณรงค์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย รอบที่ 1 ปีงบประมาณ 2563 จังหวัดลพบุรี” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ของจังหวัดลพบุรี ทราบ และเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จังหวัดลพบุรี เห็นความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้สัตว์เลี้ยงของตนเอง เน้นย้ำให้เกษตรกรดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ผลที่คาดว่าได้รับคือ ทำให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันและลดอุบัติการณ์ของโรคระบาดปากและเท้าเปื่อยได้ เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและประชาชนผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม และขอความร่วมมือสหกรณ์/ศูนย์รับน้ำนมดิบ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ดังนี้
- เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวัง ค้นหาโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม โดยทำการตรวจสอบฟาร์มโคนมของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกการซื้อขายน้ำนมดิบของศูนย์/สหกรณ์ จากข้อมูลที่สงสัยว่าจะมีการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อย เช่น ปริมาณผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยของฟาร์มที่ลดลงอย่างผิดปกติ หรือหากเจ้าหน้าที่ของศูนย์/สหกรณ์ ตรวจพบฟาร์มที่เป็นโรคปากและเท้าเปื่อย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทราบทันที ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ 063-2256888 หรือผ่านแอปพริเคชั่น DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบและการควบคุมโรคโดยเร็ว
- เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถทุกคันที่เข้า ออกศูนย์รับนมหรือสหกรณ์โคนม ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยจากผู้ปฏิบัติงาน
- ประชาสัมพันธ์ให้เน้นย้ำเกษตรกรที่ยังไม่มีโคนมป่วยด้วยโรคปากและเท้าเปื่อย ป้องกันการนำโรคเข้าฟาร์ม ประกอบด้วย 3.1 ชะลอการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เข้า-ออก ภายในฟาร์ม เพื่อลดความเสี่ยงของการนำเข้าเชื้อไวรัสปากและเท้าเปื่อย หากมีความจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เข้ามาในฟาร์ม ควรมีการกักแยกจากสถานที่เลี้ยงสัตว์ อย่างน้อย 7 วัน เพื่อสังเกตอาการก่อนปล่อยเข้าร่วมฝูง
3.2 เข้มงวดการปฏิบัติตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเบื้องต้น เช่น ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโคนม หากจำเป็น ต้องเปลี่ยนรองเท้าที่ใช้เฉพาะภายในฟาร์ม ห้ามยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถรับซื้อสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์ เข้าภายในฟาร์มโดยเด็ดขาด หากจำเป็น ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคถังส่งนมและอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนนำเข้าฟาร์ม เลือกพืชอาหารสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ว่าไม่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย 3.3 หากฟาร์มอยู่ในพื้นที่ ที่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดให้หลีกเลี่ยงการผสมเทียมและงดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ในช่วงที่มีโรคระบาดอยู่
3.4 หากพบโคนมป่วย หรือสงสัยว่าเป็นโรคปากและท้าเปื่อย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ทราบภายใน 12 ชั่วโมง เพื่อเข้าช่วยเหลือและการควบคุมโรคโดยเร็ว
ณ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก สวนมะเดื่อ จำกัด อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี