วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม ในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมหนาแน่น ในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 1 และ 3 โดยมีเป้าหมายหลักคือ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ณ ห้องประชุมศูนย์ทดสอบและวิจัยคุณภาพชีววัตถุสำหรับสัตว์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีเจ้าหน้าที่จาก สคบ. ปศุสัตว์เขต 1 และ 3 ปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอ และนายสัตวแพทย์ในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม
รองอธิบดีได้เน้นย้ำนโยบายการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการเลี้ยงโคนม ให้มีวัตถุประสงค์ ระเบียบวิธีการที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้มีการเลี้ยงโคนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ สนับสนุนเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน และสัตวแพทย์ประจำศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ/สหกรณ์โคนมทุกที่ โดยเฉพาะขนาดใหญ่ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมโรค ดูแลสมาชิกสหกรณ์ และติดตามการบริหารวัคซีนให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
1. พิจารณาแนวทางความร่วมมือการบริหารจัดการวัคซีน การฉีด และติดตามผลการฉีด ซึ่งต้องเข้มงวดระบบห่วงโซ่ความเย็น ตั้งแต่ออกจาก สทช. จนถึงเข้าสู่ตัวสัตว์ และให้สหกรณ์ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ควบคุมการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้ตรงตามวงรอบ
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ สคบ.ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการแจกจ่ายวัคซีนและผลของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของพื้นที่ ข้อดี และข้อเสีย เพื่อรายงานข้อเท็จจริงต่อกรมปศุสัตว์ใน 1 สัปดาห์
2. พิจารณาแนวทางความร่วมมือการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการค้าสัตว์และซากสัตว์ เจ้าหน้าที่ผสมเทียม รวมถึงควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ต้องแจ้งให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรับทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องขึ้นทะเบียน องค์ความรู้ในเรื่องของโรคระบาดและการปฏิบัติตัวในกรณีที่เกิดโรค ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ รวมทั้งโทษของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
3. แนวทางความร่วมมือ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อผ่านบุคคล ยานพาหนะ โดยมีการนำเสนอมาตรการการควบคุมโรคจากทั้งสหกรณ์ และศูนย์รวมรวมน้ำนมดิบ การแจ้งโรคระบาด ซึ่งจะต้องเข้มงวดให้มากที่สุด
รองอธิบดีได้ให้แนวทางการบังคับใช้กฎหมายให้เข้างวด กรณีเกิดโรคระบาด ให้ปศุสัตว์อำเภอสำรวจจำนวนสัตว์ป่วยและสัตว์ในพื้นที่เสี่ยง ทำบันทึกสั่งกักโค 100% เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ที่มีโรคระบาด
4. แนวทางการพัฒนาระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของเกษตรกร ซึ่งจะบังคับใช้กฎกระทรวงเรื่อง ระบบการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ในวันที่ 7 มกราคม 2562 และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบซึ่งจะต้องมีระบบ GMP และรับน้ำนมจากฟาร์มมาตรฐาน GAP หรือ GFM และไม่เกิดโรคปากและเท้าเปื่อยเท่านั้น
รวมทั้งได้พิจารณาการนำ outsource เข้ามาเป็นผู้ตรวจประเมินฟาร์มมาตรฐาน GAP และการจ้างงานนายสัตวแพทย์เพื่อควบคุมฟาร์มโคนม ของศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมาตรฐาน GMP
5. การหาแนวทางในการตั้งกองทุนเพื่อการเลี้ยงโคนม มีการรับฟังข้อคิดเห็นในการจัดตั้งกองทุน ของทั้งสหกรณ์โคนม และบริษัทเอกชนต่างๆ ให้นำร่องโดยเกษตรกร สหกรณ์ที่สนใจ ตั้งเป็นคณะทำงานร่วม และให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง
ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมโคนม อยู่ที่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยในการพัฒนาระบบการผลิตน้ำนมโคของเกษตรกร และเข้าสู่ FTA ในปี 2569 ได้โดยไม่สูญเสียผลประโยชน์ให้แก่ต่างชาติ