สถิติผู้เข้าชม (Truehits)

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสภาพพื้นฐานส่วนบุคคล สภาพปัญหา และ ความต้องการและแนวทางการส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ สมาชิกชมรมแพะ แกะ ลพบุรี จัดเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์สมาชิกชมรม แพะ แกะ ลพบุรี ทั้งหมด จำนวน 205 ราย ระยะเวลาการศึกษาระหว่างเดือน มกราคม – กรกฎาคม 2560 โดยออกแบบการจัดเก็บข้อมูลตามหัวข้อที่ต้องการศึกษา 3 หัวข้อ ประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคลของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อสมาชิกชมรมแพะ แกะ ลพบุรี ข้อมูลด้านปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อสมาชิกชมรมแพะ แกะ ลพบุรี และ ข้อมูลด้านความต้องการและแนวทางการส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อสมาชิกชมรมแพะ แกะลพบุรี )

จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อสมาชิกชมรมแพะ แกะลพบุรี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 63.40) มีอายุในช่วง 41-50 ปี (ร้อยละ 36.10) จบการศึกษาชั้นสูงสุดในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 (ร้อยละ 27.30) มีสถานภาพสมรส (ร้อยละ 77.10) มีสมาชิกในครอบครัว 4-6 คน (ร้อยละ 53.20) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 98.00) มีประสบการณ์ในการเลี้ยงแพะน้อยกว่า 5 ปี (ร้อยละ 65.40) ส่วนใหญ่เคยได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ (ร้อยละ 95.60) เคยเข้ารับการฝึกอบรมด้านอาหารและการให้อาหารแพะมากที่สุด (ร้อยละ 67.30) และมีประสบการณ์ในการศึกษา ดูงานด้านการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายมากที่สุด (ร้อยละ 53.70) มีพื้นที่ถือครองเพื่อการเลี้ยงแพะทั้งหมดเฉลี่ย 5.20 ไร่ เลี้ยงแพะเป็นอาชีพรอง (ร้อยละ 63.90) มีจำนวนแพะทั้งหมดเฉลี่ย 44.50 ตัว/ราย แรงงานในการเลี้ยงแพะส่วนใหญ่เป็นแรงงานครอบครัวเฉลี่ย 1.30 คน มีรายได้/ผลตอบแทนจากการ เลี้ยงแพะทั้งหมดเฉลี่ย 50,382.20 บาท/ปี มีรายจ่ายในการเลี้ยงแพะเฉลี่ย 25,682.00 บาท/ปี ส่วนใหญ่ ใช้เงินทุนของตนเองในการเลี้ยงแพะ (ร้อยละ 56.60) มีปัญหาการขาดความรู้ด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับน้อย โดยปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นปัญหาที่พบเป็นอันดับแรก (2.06) ส่วนการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ พบว่า ปัญหาในประเด็นผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยไม่เพียงพอกับ ความต้องการพบเป็นอันดับแรก (2.50) เกษตรกรสมาชิกชมรม มีความคิดเห็นว่า คณะกรรมการของชมรม แพะ แกะ ลพบุรี มีทิศทางดำเนินงานที่สอดคล้องกันเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันมากที่สุด (4.22) ด้านความต้องการการส่งเสริมรายบุคคลด้านการฝึกอบรม ต้องการการฝึกอบรมด้านการตลาดและการจำหน่ายมากที่สุด (3.95) ความต้องการการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ มีความต้องการให้กำหนดราคาซื้อขายแพะทุกประเภทอย่างเป็นธรรมมากที่สุด (4.14) มีความต้องการการส่งเสริมความเข้มแข็งของชมรมมากที่สุดในเรื่อง ต้องการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกในการเลี้ยงแพะของเกษตรกรอย่างเต็มกำลังความสามารถ (4.32) และมีความคิดเห็นว่าแนวทางที่ต้องการให้ดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งในชมรมมากที่สุด คือ ส่งเสริมการสร้างคุณธรรมให้กับสมาชิกเพื่อให้มีความซื่อสัตย์ต่อกัน มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบ มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีความไว้วางใจกัน (4.42

คำสำคัญ: แนวทางการพัฒนา , ความเข้มแข็ง, ชมรมแพะ แกะ ลพบุรี

ทะเบียนวิชาการเลขที่: 60(1)-0216(1)-080

  1. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี

ดาวน์โหลด [Fulltext]